Action Research


บทที่ 1

บทนำ

ภูมิหลัง
          
           การเขียนเป็นการแสดงออกทางความรู้ด้านภาษาศาสตร์ผ่านทางตัวอักษร งานเขียนจำเป็นที่จะต้องมีความชัดเจน กระชับ น่าสนใจ รูปแบบของงานเขียน แต่ละประเภท เช่น จดหมาย กลอน ชีวประวัติ เรียงความหรืองานเขียนอื่นๆ ผู้เขียนจะต้องมีความรู้พื้นฐานของงานเขียนแต่ละประเภทอยู่แล้วและไม่สามารถเขียนอะไรได้โดยที่ไม่มีข้อมูลหรือมีความรู้ในด้านนั้นๆมาก่อน การเขียนเป็นการเพิ่มพูนความรู้ทางด้านภาษาศาสตร์ผ่านสมรรถภาพในการจดจำข้อมูล  (Andrew.  2007  :  2- 3)   และยังเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกของตัวบุคคล เป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลและสังคม เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมและเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ การถ่ายทอดและการยอมรับข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสังคม (Richards.  2003  :  27)  นอกจากนั้นการเขียนเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ การที่จะพัฒนาการเขียนของผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จในด้านการศึกษา ผู้สอนมีความจำเป็นจะต้องช่วยเหลือให้ผู้เรียนได้บรรลุผลในการเขียน สิ่งสำคัญคือผู้สอนต้องการที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้เป็นนักเขียนที่ดี การเขียนเป็นกิจกรรมที่มีความซับซ้อนและยากพอสมควร ฉะนั้นการสอนทักษะนี้ทำให้เกิดการสับสนแก่ผู้เรียนภาษาที่สองจากแบบแผนของภาษาเดิมสู่การเขียนเป็นภาษาที่สอง ผู้สอนต้องส่งเสริมผู้เรียนด้วยกิจกรรมที่หลากหลายในห้องเรียน (Hedda.  2009  :  Web Site)
การเขียนเชิงสร้างสรรค์เป็นการเขียนที่แสดงออกถึงความคิด ความรู้สึกและจินตนาการของผู้เขียน ซึ่งแสดงออกมาได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาจจะเป็นในรูปแบบของบทกวี การเขียนบรรยาย ในงานเขียนเชิงสร้างสรรค์ผู้เขียนต้องการจะแสดงออกทั้งความรู้สึกและความคิดมากกว่าด้านข้อเท็จจริงและเหตุผล (Asma Mansoor.  2010  :   web site) โดยจะเน้นไปที่บทบาทของการแสดงความเป็นตนเอง ซึ่งค่อนข้างจะแตกต่างกับการให้ความสำคัญกับผู้ฟัง เพราะจะเจาะจงไปถึงเนื้อหาความคิดที่ปรากฏในกระดาษ (Hedda.  2009  :  Web Site)  กิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการทำให้เกิดผลผลิตทางความคิดและนำไปสู่ผลงานทางการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดและแปลงความคิดจากมโนคติรวมเข้าด้วยกัน  (John.  1999  :  6)  ในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ผู้เขียนจะต้องเลือกสรรคำศัพท์และจัดกระบวนการความคิด การเขียนเชิงสร้างสรรค์จะรวมไปถึง การเขียนบทประพันธ์ บทละคร เรื่องสั้น และเรียงความ และนิยาย ซึ่งกระบวนการของการเขียนต้องมีการตรวจทานและแก้ไข  (Tricia. 2003  :  Website)  การเขียนเชิงสร้างสรรค์ทำให้นักเรียนมีอิสระในการแสดงความคิดของตนเองโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ การเขียนเชิงสร้างสรรค์เป็นงานส่วนบุคคลที่การแสดงความเป็นตัวเอง เช่น เมื่อนักเรียนได้ค้นคว้าแล้วได้ความรู้ ซึ่งความรู้ที่ได้จะเข้าไปอยู่ภายในความคิดของตนเองจากนั้นดึงเอาสิ่งนั้นออกมาแล้วแสดงผ่านมุมมองและความรู้สึกผ่านการเขียน นักเรียนมีโอกาสตรวจแยกความคิดของตนเองผ่านประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้ใหม่ มุมมองและการแสดงออกทางความคิด การเขียนเชิงสร้างสรรค์เป็นวิถีทางของการค้นพบความหมาย เป็นการสร้างความรู้ใหม่เพิ่มพูนความรู้เดิม นำมาแปลงเป็นสิ่งใหม่จึงเกิดเป็นความรู้ใหม่  (Asma Mansoor.  2010  :  Web Site)
การเขียนเชิงวิจารณ์เป็นการเขียนเพื่อบ่งบอกความรู้สึกเป็นการเขียนเชิงการโต้แย้งถกเถียง ตีความและแสดงความคิดเห็นจากความเข้าใจ เป็นการประเมินผลทางความคิดและแบ่งบันทัศนคติ  (Pope  2002  :  Web Site)  การเขียนเชิงวิจารณ์เป็นผลมาจากการคิดวิจารณญาณเป็นการคิดหาเหตุผลที่เชื่อมโยงกับข้อโต้แย้งหรือเพื่อที่จะชั่งน้ำหนักหลักฐานเพื่อยืนยันความชัดเจน  (Goatly.  2000  :  Web Site)  การคิดและการเขียนเชิงวิจารณ์เป็นทักษะที่พัฒนาความสามารถในการหาเหตุผลตามหลักตรรกะวิทยาของการโต้แย้งทางแนวความคิดจะเกิดขึ้นหลังการอ่าน ซึ่งผู้เรียนควรจะได้รับการฝึกฝนในทักษะเหล่านี้เพื่อที่จะเข้าใจได้ว่าทำไมสิ่งนั้นจึงเกิดและเกิดความคิดลำดับเหตุการณ์ ไม่ใช่แต่เพียงทำความเข้าใจ ซึ่งผู้เรียนจะต้องเกิดคำถามภายในสิ่งที่ตนได้อ่านและแสดงออกมาเป็นการเขียนที่มีประสิทธิภาพ ประโยชน์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการคิดและเขียนเชิงวิจารณ์คือนักเรียนสามารถที่จะเรียนรู้ที่จะเข้าถึงปัญหาจากหลายๆมุมมอง ทักษะเหล่านี้สามารถทำให้ผู้เรียนกลายเป็นคนที่ยอมรับฟังความคิดเห็นและสามารถแสดงออกทางความคิดด้วยการเขียนด้วยการค้นคว้าหาหลักฐานสำหรับข้อโต้แย้งของพวกเขา การคิดเชิงวิจารณ์เกิดจากการตั้งคำถาม เช่น นักเรียนอ่านนิยายและประเมินการอ่านโดยวินิจฉัยแรงจูงใจและมุมของผู้เขียนที่สื่อผ่านตัวละคร ผู้สอนช่วยผู้เรียนมีการจัดกระบวนการความคิดซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามมารถพัฒนาข้อโต้แย้งของตนด้วยการเขียนที่ใช้เนื้อหาที่อ่านเป็นหลักฐาน อีกหนึ่งคุณสมบัติของการคิดและเขียนเชิงวิจารณ์คือการตีความจากเรื่องโดยเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ผู้เรียน เรียนรู้ความสำคัญบริบทของความเข้าใจเมื่อตัดสินด้วยเหตุการณ์ที่เกิดจากเรื่อง  (Hellowell.  2011  :  Web Site)
ในปัจจุบันเทคโนโลยีการเรียนการสอนจำนวนมากถูกปรับให้เป็นการเรียนแบบอินเตอร์แอคทีฟ เนื่องจากผู้ใช้งานหรือผู้เรียนมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ได้ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการป้อนข้อมูล นั้นหมายความว่าผู้เรียนสามารถควบคุมการเรียนรู้ของตนเองได้ แทนที่จะมีคำตอบใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือผิดเหมือนที่เกิดขึ้นในการเรียนห้องเรียนแบบเก่า แต่ด้วยเทคโนโลยีการเรียนการสอนในขณะนี้ผู้เรียนมีความสามารถที่จะสร้างคำตอบที่ถูกต้องผ่านขั้นตอนการทำกิจกรรมที่เสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เพิ่มขึ้น  (Susan.  2003  :  Web Site)  เนื่องจากคลื่นลูกใหม่ของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในขั้นพื้นฐานที่ใช้ในการจัดหาข้อมูลที่เรียกว่า อินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย คือ สื่อที่มีส่วนประกอบแบ่งตามลักษณะของการนำเสนอเนื้อหา  รูปภาพ  เสียง  ภาพเคลื่อนไหว และวิดีโอ บางคนอาจเรียกว่า สื่อ คือการนำสื่อประเภทต่างๆมาจัดเรียงกันลงในโปรแกรม ในส่วนของการปฏิสัมพันธ์กล่าวถึง กระบวนการของการให้อำนาจกับผู้ใช้ในการควบคุมสิ่งต่างๆโดยใช้คอมพิวเตอร์  (Irene.  2003  :  7)  อินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดียมีเนื้อหาที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาการแสดงออกทางการเรียนรู้โดยการยกระดับความพอใจของผู้ใช้งาน  (Sanjaya.  2007  :  1)
 การเขียนเชิงสร้างสรรค์และการเขียนเชิงวิจารณ์โดยใช้สื่ออินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย ทำให้เกิดกระบวนการการเรียนรู้ที่สามารถเชื่อมโยงกับนักเรียนได้ดี ทั้งครูและนักเรียนสามารถควบคุมกิจกรรมในห้องเรียนให้ลื่นไหลไปได้ ปัจจัยหลักในการใช้อินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย คือ การนำเอาสื่อนี้เข้าไปใช้ในการศึกษา เพื่อเป็นการเชื่อมโยงกับนักเรียนในการทำกิจกรรมต่างๆ ในห้องเรียนเช่น การเขียนวิจารณ์บทความ นิยาย เป็นต้นซึ่งผู้สอนจะใช้สื่อในกลุ่มที่หลากหลาย เช่น ตำราเรียน รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว เสียง แอนนิเมชั่น เป็นต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ ทำให้นักเรียนมีความสามารถในการอธิบายข้อเท็จจริง เปรียบเทียบความแตกต่างของเนื้อหา และทำให้นักเรียนสามารถอนุมานสิ่งต่างๆ สามารถระลึกได้ หลังจากที่ได้ทำกิจกรรมในชั้นเรียนโดยเรียนรู้จากสื่ออินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย 
(Mishra.  2005  :  61)
           ด้วยหลักการและเหตุผลดังกล่าว กลุ่มผู้วิจัยจึงเห็นว่า การนำสื่ออินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดียมาใช้เป็นสื่อในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษเชิงสร้างสรรค์และการเขียนภาษาอังกฤษเชิงวิจารณ์ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ตามความสามารถของผู้เรียน เพราะการใช้สื่ออินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดียเข้ามามีส่วนร่วมในบทเรียนนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ปฏิสัมพันธ์กับสื่อ  ทำให้สนุกสนาน  พร้อมทั้งเป็นการให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะการคิดสร้างสรรค์และทักษะการคิดวิจารณ์ ในการสร้างเรื่องราวแล้วสื่อสารผ่านเขียนหลังจากการเรียนรู้จากสื่อ ดังนั้นสื่ออินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดียมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นและกระตุ้นให้นักเรียนมีความสนใจในการเรียนภาษามากขึ้น จากเหตุผลที่กล่าวมาจึงทำให้กลุ่มผู้วิจัยสนใจที่จะนำสื่ออินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดียมาช่วยในการพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษเชิงสร้างสรรค์และการเขียนเชิงวิจารณ์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้บรรลุตามความมุ่งหมายในการพัฒนาทักษะการเขียนให้ดีมากขึ้น

ความมุ่งหมายของการวิจัย

การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนแบบร่วมมือ พัฒนาทักษะการการเขียนภาษาอังกฤษเชิงสร้างสรรค์และการเขียนภาษาอังกฤษเชิงวิจารณ์ โดยใช้อินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดียเป็นสื่อในการเรียนรู้ ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด 


ความสำคัญของการวิจัย
1. เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติพระสมเด็จพระศรีนครินทร์ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด มีทักษะการเขียนภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น
2. ใช้อินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดียเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ
3. การใช้อินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดียเพื่อพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อผู้วิจัย ครูผู้สอนและผู้ที่สนใจ เพื่อส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ

ขอบเขตของการวิจัย

      1. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ปีการศึกษา 2554 จำนวนนักเรียน 40 คน 1 ห้องเรียน
      2. ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย
          ใช้เวลาในการวิจัย ทั้งสิ้น 1 ภาคเรียน คือ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554
      3. เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัย
          เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยพิจารณาจากหนังสือ เอกสารประกอบการวิจัย และคู่มือการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พุทธศักราช 2544 ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
               1.1 Unit: Myself Topic: Opinion Sub-topic: Social Policy 
                   มี 1 แผนการสอน ใช้เวลาทั้งหมด 3 ชั่วโมง 
               1.2 Unit: Interest Opinion Topic: Movie
                   มี 1 แผนการสอน ใช้เวลาทั้งหมด 3 ชั่วโมง
               1.3 Unit: Health Topic: Weight measurement
                   มี 1 แผนการสอน ใช้เวลาทั้งหมด 3 ชั่วโมง

              
นิยามศัพท์เฉพาะ

           1.อินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย หมายถึง สื่อที่มีส่วนประกอบแบ่งตามลักษณะของการนำเสนอ ประกอบด้วย เนื้อหา รูปภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว และวิดีโอ อินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย เป็นสื่อปฏิสัมพันธ์ที่ใช้ในทางการศึกษา เพื่อเป็นการเชื่อมโยงกับนักเรียนในการทำกิจกรรมต่างๆ ในห้องเรียน เช่น การจินตนาการแต่งเรื่องตามภาพ การแต่งบทประพันธ์ การเขียนวิจารณ์บทความ นิยาย เป็นต้น ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยให้ผู้เรียนเรียนรู้จากสื่ออินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์และการเขียนเชิงวิจารณ์ ทำให้นักเรียนมีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ การคิดริเริ่มแปลกใหม่ รวมถึงมีความสามารถในการคิดวิจารณญาณ ได้แก่ การอธิบายข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น เปรียบเทียบความแตกต่างของเนื้อหา และทำให้นักเรียนสามารถอนุมานสิ่งต่างๆ สามารถระลึกได้ หลังจากที่ได้ทำกิจกรรมในชั้นเรียนโดยเรียนรู้จากสื่ออินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย
           2. ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง การแสดงออกถึงความคิดความรู้สึกและจินตนาการของผู้เขียน ซึ่งแสดงออกมาได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผลงานการเขียนเชิงสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะแสดงออกทั้งความรู้สึกและความคิดมากกว่าด้านข้อเท็จจริงและเหตุผลสิ่งเหล่านี้จะแสดงออกมาให้เห็นจากการทำกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ กิจกรรมการเขียนบรรยายภาพ การเขียนเรียงความ หลังจากที่ได้ทำกิจกรรมในชั้นเรียนโดยเรียนรู้จากสื่ออินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย
           3. ความคิดวิจารณญาณ หมายถึง การบ่งบอกความรู้สึกในเขียนเชิงการโต้แย้งถกเถียง ตีความและแสดงความคิดเห็นจากความเข้าใจ เป็นการประเมินผลทางความคิดและแบ่งบันทัศนคติ การเขียนเชิงวิจารณ์เป็นผลมาจากการคิดเชิงวิจารณญาณเป็นการคิดหาเหตุผลที่เชื่อมโยงกับข้อโต้แย้งหรือเพื่อที่จะชั่งน้ำหนักหลักฐานเพื่อยืนยันความชัดเจนสิ่งเหล่านี้จะแสดงออกมาให้เห็นจากการทำกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ กิจกรรมการเขียนแยกข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็น การเขียนระบุเหตุและผล หลังจากการเรียนรู้จากอินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย
            4. การวิจัยปฏิบัติการ หมายถึง การใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน ปรับปรุงและพัฒนาทักษะการเขียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จศรีนครินทร์ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยใช้ใช้อินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้ได้ใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการรูปแบบของเคมมิส และแม็คเท็กการ์ท (Kemmis and McTaggart) ประกอบด้วย วงจรการปฏิบัติ 4 ขั้นตอน คือขั้นวางแผน (Plan) ขั้นลงมือปฏิบัติ (Action) ขั้นการสังเกตการณ์ (Observation) และขั้นการสะท้อนผลการปฏิบัติ (Reflection)





No comments:

Post a Comment